พลิกฟื้นสังคมเกษตรไทย สู่ผู้นำโลกด้วย Agitech

พลิกฟื้นสังคมเกษตรไทย สู่ผู้นำโลกด้วย Agitech

 หนุนเกษตรกรไทยพลิกฟื้นสังคมเกษตรแบบเก่าด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ ร่วมมือกันบริหารจัดการ ขจัดปัญหาเรื้อรัง ส่งเสริมคนรุ่นใหม่ สตาร์ทอัพ และปั้นนักประดิษฐ์คิดค้น เทคโนโลยีเกษตร ผนึกกำลังสร้างนักรบเศรษฐกิจใหม่ให้ไทยเป็นที่หนึ่งด้านเทคโนโลยีเกษตรครองโลก

         เทคโนโลยีด้านการเกษตรที่จะพัฒนาสังคมเกษตรยุคใหม่ในความหมายของไทยแลนด์4.0 ในวันนี้เริ่มเห็นบทบาทชัดขึ้นว่าสภาพแวดล้อม วิถีชีวิตของเกษตรกรไทยจะต้องตื่นตัว ใช้ความได้เปรียบจากเป็นประเทศมีรากฐานการผลิต ปรับปรุง พัฒนา ต่อยอด พลิกฟื้นปัญหา อุปสรรค และความท้าทายมาเป็นโอกาสของการต่อยอดสังคมเกษตรไปสู่เกษตรนวัตกรรมไทยครองตลาดโลก

         ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มองถึงโอกาสของการพัฒนาการเกษตรสู่เอสเคิร์ฟ (อุตสาหกรรมใหม่จากภาคเกษตรกรรม) นั่นมีบทบาทสำคัญในการพลิกโฉมประเทศ จากต้นน้ำ กลางน้ำ ยันปลายน้ำ ที่ซัพพลายเชนจะเกิดมูลค่าอยู่กับประเทศทั้งหมด เพราะภาคการเกษตรเชื่อมโยงกับสังคมมายาวนาน จึงเกี่ยวข้องกับคนไทยในหลากหลายมิติ ตั้งแต่วัฒนธรรม อาหาร สุขภาพ

         ภาคการเกษตรของไทยมีมูลค่าต่อจีดีพี(ผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ)เติบโตขึ้นจากสัดส่วน 8-9% ขึ้นมาเป็น 10-11% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตลดลงเหลือ 6% โดยมีกลุ่มธุรกิจมาแรงอย่าง ภาคบริการ ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ดังนั้นความหวังของการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศจึงต้องเชื่อมโยงภาคการเกษตรกับภาคบริการ ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศเข้ามาผนึกกำลังกันไปลุยตลาดโลก

         อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรยังเผชิญกับความท้าทายและประเด็นปัญหาในหลายด้าน ที่สั่งสมมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตเกษตรกรไทย ระบบการถือครองที่ดิน การพัฒนาระบบซัพพลายเชน ปัจจัยทางการเกษตร ผลผลิตล้นตลาด รวมถึงอนาคตลูกหลานเกษตรกรไทยที่ไม่เข้ามาทำงานด้านการเกษตร จึงขาดผู้สืบทอด

         ขณะที่ กลุ่มสตาร์ทอัพ ที่เป็นความหวังใหม่ของการหาคำตอบ มองในมิติที่ไต่ระดับขึ้นอีก เพราะการคิดโมเดลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกกับการเกษตรเข้ามาในตลาดหมายถึงการเติบโตจากเดิมหลายเท่าตัว ไม่ต่างจาก “แจ็คผู้ฆ่ายักษ์” ที่มีโอกาสล้มกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ได้ ด้วยการพัฒนาธุรกิจจากความคิดของผู้ก่อตั้งเพียงคนเดียวหรือมีทีมงานอีก 2-3 คน


         โมเดลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรที่พัฒนาต่อยอดจากเทคโนโลยี (Agtech) จึงมาจาก 3 ด้าน คือ

         1. รูปแบบของการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพนั้น โดยทั่วไปมักมองแค่เพียงเรื่องของแอพลิเคชั่น แต่ในความเป็นจริง มีหลากหลายรูปแบบที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้ โดยใช้เทคโนโลยี หัวใจสำคัญคือการแบ่งปันทรัพยากร (Sharing Economy) ร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจโดยมีความร่วมมือ จากหลากหลายซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร

         2. มาจากการต้องการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตร (Pain point) เห็นปัญหาที่สั่งสมในภาคการเกษตรแล้วอยากจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาระบบการบริหารจัดการ หรือสังคม เพื่อให้เกิดสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม เช่น โจทย์ของการที่ประเทศไทยมีครอบครัวที่อยู่ในภาคการเกษตร 20 ล้านคน แต่กลับมีลูกหลานที่ไม่เข้ามาสืบสานอาชีพ จึงต้องหาวิธีดึงคนรุ่นใหม่ที่มาพร้อมวิทยาการ เทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการเกษตร

         “ในสัญญาณอ่อนแรงของทายาทภาคการเกษตร แต่ก็มีคนรุ่นใหม่ที่จบการบริหารจัดการ ไม่เกี่ยวข้องกับเกษตร แต่เบื่อชีวิตคนเมือง เข้ามาใช้ความรู้ประยุกต์ธุรกิจสตาร์ทอัพจากรากฐานการเกษตร ซึ่งจะเปลี่ยนภาพลักษณ์มุมมองเกษตรกรใหม่ ด้วยคนสตาร์ทอัพ เป็นนักรบเศรษฐกิจใหม่(New Economic Warrior) ”

         3.เริ่มธุรกิจจากความรักและพลัง ความฝันอันแรงกล้า (Passion) ที่มาพร้อมไอเดียธุรกิจเต็มไปหมด จึงไปหากองทุนสนับสนุน (Crowdfunding)

         สำหรับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ทำหน้าที่ส่งเสริมสตาร์ทอัพใน 3 ด้าน คือ กลุ่มธุรกิจเกษตรที่เกี่ยวข้องกับชุมชนสังคม , การพัฒนาสินค้าเกษตรไปสู่การแปรรูปด้วยนวัตกรรม และ พัฒนาสตาร์ทอัพให้คิดค้นโมเดลธุรกิจใหม่ ทั้ง 3 ทางเลือกจะช่วยเกื้อหนุนทุกคนในระบบภาคเกษตรไทยให้เติบโตไปพร้อมกัน


ที่มา: https://www.scurvehub.com/article/detail/65

 4058
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์