กาฬสินธุ์เมืองสีเขียวอัจฉริยะ KALASIN SMART GREEN CITY

กาฬสินธุ์เมืองสีเขียวอัจฉริยะ KALASIN SMART GREEN CITY

กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางหรือตอนบนของประเทศไทย อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 510 กิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน มีอาณาเขตติดต่อ ทิศเหนือ จรดจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดสกลนคร ทิศตะวันออก จรดจังหวัดมุกดาหาร ทิศใต้ จรดจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดมหาสารคาม ทิศตะวันตก จรดจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งสิ้น  2,811,399  ไร่  คิดเป็นร้อยละ  64.75 ของพื้นที่ทั้งจังหวัด

ตลอดเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา จังหวัดกาฬสินธุ์ ต้องเผชิญกับสถานการณ์ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นเป็นประจำ โดยเฉพาะในช่วงปลายฤดูหนาวสู่ฤดูแล้ง ประมาณเดือนมกราคมถึงเมษายนของทุกปี ปัญหาที่พบมากคือ ปัญหาหมอกควันและมลพิษสะสมในบรรยากาศที่มีปริมาณมากจนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม อันมีสาเหตุเกิดจากการเผาไหม้ ที่สำคัญคือ การเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกในช่วงฤดูฝน ซึ่งทางจังหวัดก็ได้มีการรณรงค์เรื่องลดการเผามาโดยตลอด



และในปี พ.ศ.2563 จังหวัดกาฬสินธุ์  โดยสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับ หน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) สถานศึกษาภาคเอกชน ภาคประชาชน และเครือข่ายเกษตรกรฯ ได้เห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาหมอกควันจากการเผาในพื้นที่การเกษตร เพื่อลดปัญหามลพิษ และส่งเสริมกระบวนการผลิตทางการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดทำ โครงการขับเคลื่อนกาฬสินธุ์เมืองสีเขียวอัจฉริยะพัฒนาเกษตรกรรม และลดโลกร้อนจากการลดการเผาบนพื้นที่การเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ ขึ้น เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์กาฬสินธุ์เมืองสีเขียวอัจฉริยะพัฒนาเกษตรกรรม (Kalasin Smart Green City) ภายในปี 2567 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความตระหนักร่วมกันระหว่างผู้ผลิต และผู้บริโภค เรื่องอันตรายและผลเสียจากการเผาในพื้นที่การเกษตร รณรงค์ ส่งเสริมให้เกษตรกรหยุดการเผาบนพื้นที่การเกษตร  และพัฒนาไปสู่การเป็นเกษตรอินทรีย์ต่อไปOrganic Kalasin (OK-KALASIN) ซึ่งมีเป้าหมายในการดำเนินการในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ 18 อำเภอ 135 ตำบล 1,584 หมู่บ้าน ภายใน 5 ปี เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า 1,584 คน สามารถให้การรับรองแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร Orgnic Kalasin (OK-KALASIN) ไม่น้อยกว่า 10,000 ไร่ เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถขายผลผลิตได้ราคาสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 10% ผู้บริโภคให้การสนับสนุนสินค้าที่ผ่านการรับรองภายใต้เครื่องหมายไม่เผาในพื้นที่การเกษตรเพิ่มมากขึ้น และระบบตลาดออนไลน์สินค้าที่มาจากระบบเกษตรไม่เผา และตลาดสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเติบโตไม่น้อยกว่า 10% ทุกปี

วันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2563 กิจกรรมเวที KICKOFF กาฬสินธุ์เมืองสีเขียวอัจฉริยะ SMART GREEN CITY รณรงค์ไม่เผา OK-KALASIN เกษตรปลอดภัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้จัดขึ้น และได้มีพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ไม่เผาตอซัง อำเภอต้นแบบเกษตรปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติกาฬสินธุ์ อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งจัดโดยสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมกับอำเภอกมลาไสย โดยมีผู้เข้าร่วมงานประกอบไปด้วย หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เกษตรกรในเขตพื้นที่ตำบลธัญญา อำเภอกมลาไส ซึ่งจากการร่วมมือของผู้ประสานงานประจำภาคอีสาน (สภาเกษตรกรจังหวัดอุดรธานี) มูลนิธิเกษตรรักษ์สิ่งแวดล้อม (ประเทศไทย) ในฐานะองค์กรเอกชนที่ให้ความสำคัญในเรื่องลดการเผาบนพื้นที่การเกษตร  โดย ดร.ตะวัน ห่างสูงเนิน ประธานมูลนิธิฯ ได้ร่วมลงนามความร่วมมือ และได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้อีกด้วย ซึ่งเวที KICKOFF กาฬสินธุ์เมืองสีเขียวอัจฉริยะ KALASIN SMART GREEN CITY รณรงค์ไม่เผา OK-KALASIN เกษตรปลอดภัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในขั้นตอนการดำเนินงานของ โครงการขับเคลื่อนกาฬสินธุ์เมืองสีเขียวอัจฉริยะพัฒนาเกษตรกรรม และลดโลกร้อนจากการลดการเผาบนพื้นที่การเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์



หลังจาก KICKOFF ไปแล้ว ต่อไปคือการขึ้นทะเบียนเกษตรกร Smart/Young Smart Green Farmer ที่ไม่เผา และสนใจร่วมเป็นเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม OK-KALASIN โดยในปี พ.ศ.2563 สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ ในพื้นที่ 8 ตำบล ได้แก่ ตำบล กมลาไสย , หลักเมือง , โพนงาม , ดงลิง , ธัญญา , หนองแปน , เจ้าท่า , โคกสมบูรณ์  จำนวน 98 หมู่บ้าน ได้จัดเวทียกร่างกติกาชุมชน กับหมู่บ้านต้นแบบปลอดการเผา และต่อมาได้จัดเวทีประชาพิจารณ์ในหมู่บ้านต้นแบบปลอดการเผา

25 พฤศจิกายน 2563 ถึงเวลาประกาศหมู่บ้านต้นแบบปลอดการเผา “โครงการพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบปลอดการเผา ตามนโยบายสาธารณะวาระ กาฬสินธุ์เมืองสีเขียวอัจฉริยะ ( KALASIN SMART GREEN CITY ) ปี 2564” เป็นโครงการต่อเนื่องสนับสนุนยุทธศาสตร์กาฬสินธุ์เมืองสีเขียวอัจฉริยะพัฒนาเกษตรกรรม ( KALASIN SMART GREEN CITY ) ภายในปี 2567 เพื่อประกาศหมู่บ้านต้นแบบปลอดการเผาแห่งแรกของจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งหมู่บ้านที่ได้รับการประกาศว่าเป็นหมู่บ้านต้นแบบปลอดการเผาแห่งแรกของจังหวัดกาฬสินธุ์ คือ บ้านบ่อ หมู่ที่ 9 ตำบลธัญญา อำเภอกมลาไสย โดยมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 200 คน มีการจัดกิจกรรมเวทีประกาศหมู่บ้านต้นแบบปลอดการเผา โดยจัดขึ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 ณ เทศบาลตำบลธัญญา อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์  ภายในงานได้มีพิธีมอบเกียรติบัตรจังหวัดปลอดการเผา ให้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และประธานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ โดย ดร.ตะวัน ห่างสูงเนิน ประธานมูลนิธิเกษตรรักษ์สิ่งแวดล้อม (ประเทศไทย) จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน และมอบเกียรติบัตรให้แก่เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯ



จาก โครงการขับเคลื่อนกาฬสินธุ์เมืองสีเขียวอัจฉริยะพัฒนาเกษตรกรรม และลดโลกร้อนจากการลดการเผาบนพื้นที่การเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ เราจะเห็นได้ว่า ขั้นตอนการทำงานของโครงการนี้ได้มีการจัดทำแผนงานโครงการไว้เป็นอย่างดี เริ่มจาก การประกาศให้ทุกภาคส่วนได้รับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้มีการเชิญหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เกษตรกรในเขตพื้นที่ ร่วมจัดเวที KICKOFF กาฬสินธุ์เมืองสีเขียวอัจฉริยะ KALASIN SMART GREEN CITY รณรงค์ไม่เผา OK-KALASIN เกษตรปลอดภัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการลงนามความร่วมมือ (MOU) ไม่เผาตอซัง เพื่อเป็นการประกาศว่าจังหวัดกาฬสินธุ์ จะต้องลดการเผาบนพื้นที่การเกษตรให้เป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ.2567 ทำการขึ้นทะเบียนเกษตรกร Smart/Young Smart Green Farmer ที่ไม่เผา และสนใจร่วมเป็นเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม OK-KALASIN เพื่อสร้างอัตลักษณ์ และเพื่อให้ได้เกษตรกรที่สมัครใจอยากจะหยุดเผาบนพื้นที่การเกษตรของตนเองอย่างแท้จริง จัดเวทียกร่างกติกาชุมชน เพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกัน จัดเวทีประชาพิจารณ์ เพื่อให้ชุมชนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการลดการเผาในหมู่บ้านต้นแบบ ประเมิน และมอบรางวัล SMART GREEN CITY โดยการเชิญ ผู้ว่าราชการจังหวัดมามอบเกียรติบัตร เพื่อเป็นรางวัล และเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ เกษตรกร บุคคลากร หน่วยงาน องค์กร ที่มีผลงานดีเด่นด้านการลดการเผาบนพื้นที่การเกษตร

เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์กาฬสินธุ์เมืองสีเขียวอัจฉริยะพัฒนาเกษตรกรรม (Kalasin Smart Green City) จังหวัดกาฬสินธุ์จึงได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี พ.ศ.2567 เกษตรกรที่หยุดการเผาบนพื้นที่การเกษตร จะพัฒนาเป็นเกษตรอินทรีย์ และได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) จัดตั้งกลุ่มเพื่อทำตลาดออนไลน์สินค้าที่มาจากการผลิตที่ไม่มีการเผาบนพื้นที่การเกษตร และระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป




 982
ผู้เข้าชม
สร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี ร้านค้าออนไลน์